อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา
เทคโนโลยีสารสนเทศ
ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาองค์กร
และสังคมในทุกๆ ส่วน อย่างที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ นับวันเทคโนโลยีดังกล่าว ก็ยิ่งขยับเข้ามา
ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะ การพัฒนาทางการศึกษาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ทั้งในรูปแบบและขอบเขตของการศึกษาภายใต้การปฏิรูปทางการศึกษาตามเจตนารมณ์ของ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ.2542 และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาการศึกษาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'อินเทอร์เน็ต'
ที่ช่วยขยายแหล่งความรู้นั้นให้กระจายไปยังเยาวชนนักเรียนนักศึกษา โดยสามารถเข้าไปค้นคว้าด้วยตัวเอง
อย่างไร้ขีดจำกัด และขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กระจายไปยังกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคห่างไกลด้วย
มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ระบุว่า การศึกษาหมายถึง
กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม
การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม
การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ
และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
อินเทอร์เน็ตจึงเป็นขุมความรู้ปริมาณมหาศาล และเป็นเครื่องมือสื่อสารสืบค้นที่สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน
สามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้จากทุกที่ไม่จำกัดแค่เพียงในห้องเรียน หรือในเวลาเรียนเท่านั้น
จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ และตามอัธยาศัย
ที่สำคัญยังเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม
ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาพัฒนาความรู้ตลอดชีวิตสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ
อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ระหว่างกลุ่มคนในสังคม และเป็นการเพิ่มพูนการเรียนรู้ของบรรดานักเรียนที่เตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่การ
เป็นบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมแห่งปัญญา
และความรู้ (Knowledge based Society) ในอนาคตข้างหน้า
สำหรับประเทศไทย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน ยังปรากฏความไม่เสมอภาคค่อนข้างชัด
อาจจะสืบเนื่องมาจากข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ ปัญหาทางด้านการสื่อสาร หรือโทรคมนาคมพื้นฐาน
การขาดความรู้ความเข้าใจ หรือไม่เล็งเห็นประโยชน์ซึ่งหากปัญหาความไม่เสมอภาคในเรื่องนี้
ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ช่องว่างของโอกาสการเรียนรู้ของคนไทย และนักเรียนจะกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านศึกษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความทั่วถึงและเท่าเทียมทางด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และเป็นการยกระดับการศึกษาของเด็กไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Child Center) โดยมีครูอาจารย์คอยให้คำแนะนำ และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) เป็นการพัฒนาบุคลากรไทยให้เป็นบุคคลที่มีความสามารถและศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
ที่มา
http://www.vcharkarn.com/varticle/39266
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น